วิมลเกียรตินิทเทสสูตร

วันนี้นำเสนอเรื่องราวของวิมลเกียรตินิทเทสูตร ในตอนที่ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ไปเยี่ยมท่านวิมลเกียรติ

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ตรัสถามถึงการปลอบประโลมพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่ ใจความที่ท่านวิมลเกียรติตอบนี้เป็นหลักสำคัญที่ผู้บำเพ็ญโพธิสัตว์พึงระลึกถึง ผมพอสรุปได้ดังนี้

1. เห็นการดำเนินไปของร่างกายตามกฎไตรลักษณ์ (เปลี่ยนแปลงตลอด เต็มไปด้วยทุกข์ ไม่สามารถยึดถือว่าเป็นตัวตน) แต่ไม่เบื่อหน่ายในร่างนี้ ยังต้องไม่ยินดีที่ในพระนิพพาน ต้องมีความวิริยะในการโปรดสัตว์

2. มีความเข้าใจในความเป็นสุญญตาของร่างกาย แต่ต้องไม่เข้าไปยึดถือว่าทุกสิ่งอยู่ในสภาพกับไม่เหลือ

3. ให้อภัย แต่ไม่ได้คิดถึงการกระทำในอดีต

4. มีความกรุณาต่อสรรพสัตว์ จิตตั้งมั่นในความวิริยะในการโปรดสัตว์ แม้ยามเจ็บไข้ก็ต้องพิจารณาถึงความทุกข์ของสรรพสัตว์ที่เจ็บป่วยเช่นกัน

วิมลเกียรตินิทเทสสูตร

ก็โดยสมัยนั้นแล   พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า “พระโพธิสัตว์ผู้ไปเยี่ยมเยียนพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่    จักพึงปลอบโยนให้โอวาทด้วยประการฉันใดหนอ?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า 

“พึงให้โอวาทถึงความอนิจจังแห่งสรีระ    แต่อย่ากล่าวให้เกิดความรังเกียจเอือมระอาในสรีระ   

พึงให้โอวาทถึงความเป็นทุกขังแห่งสรีระ    แต่อย่ากล่าวให้เกิดความยินดีในพระนิพพาน

พึงให้โอวาทถึงความเป็นอนัตตาแห่งสรีระ    แต่ให้กล่าวให้เกิดวิริยะในการโปรดสรรพสัตว์

พึงให้โอวาทถึงความเป็นสุญตาแห่งสรีระ    แต่อย่ากล่าวว่าโดยที่สุดสิ่งทั้งปวงเป็นสภาพดับรอบไม่เหลือ   

พึงให้โอวาทถึงการขมาโทษก่อน    แต่อย่ากล่าวโทษเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต  

พึงอาศัยความเจ็บป่วยของตนเองเปรียบเทียบไปถึงความป่วยเจ็บของสรรพสัตว์    แล้วแลเกิดความกรุณาต่อสัตว์เหล่านั้น   

พึงย้อนระลึกถึงความทุกข์ที่ตนได้เสวยมาแต่เบื้องอดีตชาตินานไกลนับด้วยหลายอสงไขยกัลป์    แล้วตั้งจิตให้มั่นอยู่ในกิจที่จักบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดสรรพสัตว์   

พึงระลึกถึงกุศลสมภารที่ตนได้สร้างสมมา    ตั้งจิตอยู่ในวิสุทธิสัมมาอาชีวปฏิปทา    อย่าให้เกิดความทุกข์โทมนัส   

พึงตั้งอยู่ในวิริยภาพ    ดำรงตนเป็นจอมแพทย์ในอันจักรักษาบำบัดพยาธิภัยแก่ปวงสัตว์  

พระโพธิสัตว์พึงปลอบโยนให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ   ยังพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธนั้นให้มีธรรมปีติบังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่    ด้วยประการดังกล่าวนี้”

Leave a comment